Tumgik
#สังสารวัฏ
nunhg · 1 year
Text
10 ความจริงสูงสุด
1. แท้จริงแล้วสุขทุกข์ไม่ได้เกิดจากใครทำ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก แต่เกิดจากการกระทบกันของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัจจัยภายนอกเป็นเพียงตัวแปร ปัจจัยภายในได้แก่ สติ คือสาเหตุใหญ่ ถ้าสติไม่แข็งแรง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด เป็นใครมาจากไหน ก็มีความทุกข์ได้ทั้งนั้น เมื่อสติแข็งแรง ย่อมเห็นกระบวน การทำงานของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเห็นกระบวนการดังกล่าว จิตย่อมไม่เสวยอารมณ์ อันเป็นต้นเหตุของสุข ทุกข์ สุขทุกข์จึงถูกปรับสมดุลให้อยู่ในภาวะเป็นกลาง สิ่งนี้เรียกว่า ความเบิกบาน
2. ความเป็นเรา เป็นเขา คือ กระบวนการปรุงแต่งของจิต แท้จริงแล้ว ตัวเราไม่มีอยู่ คำว่าตัวเราไม่มีอยู่นี้ ไม่ใช่คำอุปมาอุปไมย แต่เป็นสิ่งที่สามารถตรวจสอบได้เอง จากการฝึกจิต ความเป็นตัวเรานั้นเปรียบเหมือนรถยนต์หนึ่งคัน เมื่อจับล้อไว้ทางหนึ่งเครื่องยนต์ไว้ทางหนึ่ง ประตู ตัวถังไว้ทางหนึ่ง เมื่อจับแยกส่วนได้เช่นนี้ สภาพความเป็นรถยนต์ก็หมดไป เมื่อฝึกสติจนแยกกาย ความคิด และจิต ออกจากกันได้ ความเป็นตัวเราก็หมดไปด้วย เมื่อความเป็นตัวเราหมดไป ผู้ยึดมั่นถือมั่นก็หมดไปด้วย ความทุกข์ทั้งปวงก็เป็นอันยุติ
3. เราทั้งหลาย ล้วนเกิดมานับล้านล้านล้านชาติ เป็นจำนวนที่นับไม่ได้ เคยเกิดเป็นคนรวย คนจน ราชา พระ ยาจก เป็นคนฉลาด เป็นคนโง่เขลา เป็นคนพิการ เป็นคนรูปงาม เป็นชาย เป็นหญิง เป็นกระเทย เป็นทอม เป็นนักบุญ เป็นมหาโจร เคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เปรต อสูรกาย เทวดา เคยเป็นมาทุกอย่าง ดังนั้น ถ้าชาตินี้เกิดมาดี ก็ไม่ได้แปลว่าชาติหน้าจะดี ชาตินี้อาจเป็นมหาเศรษฐี ชาติหน้าอาจเกิดเป็นสัตว์นรก ชาตินี้อาจเป็นสัตว์เดรัจฉาน ชาติหน้าอาจเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในตระกูลสูงก็เป็นได้ ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิด จงอย่าลำพองใจว่า เรานั้นดีแล้ว ประเสริฐแล้ว เพราะแท้จริง ไม่มีใครเลยที่ดีกว่าใคร ทุกคนล้วนอยู่ในความสุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น
4. จิตสุดท้ายก่อนตาย เป็นสิ่งชี้วัดว่าชาติหน้าเราจะไปเกิดเป็นอะไร ขณะที่จิตสุดท้ายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากที่สุด ในวินาทีสุดท้ายความเศร้า ความกลัว ความสงสัย การยึดติด และความเจ็บปวด สิ่งเหล่านี้ จะดึงมนุษย์ให้ไปปฏิสนธิจิตในภูมิเบื้องต่ำ ได้แก่ นรก เปรต อสูรกาย เดรฉาน พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหลังจากตายไปแล้ว มีเท่าจำนวนเม็ดทรายที่ปลายนิ้ว ส่วนทรายที่เหลือบนปฐพี เทียบได้กับผู้ที่ตายแล้วไปจุติในอบายภูมิ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว คงน้อยกว่า 0.00000000000001 เปอร์เซ็นต์ นั่นเท่ากับว่า เป็นไปได้มากเหลือเกินว่า คนทั้งหมดที่เรารู้จัก จะไม่มีใครเลยที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ไม่เว้นแม้กระทั้งเราเอง!!!
5. ชีวิตที่เราเห็นอยู่ เป็นชีวิตชั่วคราว เมื่อเราตาย สิ่งที่เราหามาด้วยความลำบาก สิ่งที่เราเคยมั่นหมายว่าสำคัญ ทั้งความสามารถ เกียรติภูมิ ลูก เมีย ผัว ญาติพี่น้อง เพื่อน มิตรสหาย หน้าที่การงาน สมบัติพัสถาน เงินทอง บ้านช่อง ที่ดิน ความภาคภูมิใจ ทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรเลยที่เราสามารถนำติดตัวไปได้ คำถามสำคัญที่เราควรต้องคิด คือ "ทุกวันนี้เราใช้เวลาที่มีเพื่อสิ่งใด" แน่นอนว่า เวลาเกือบทั้งหมดของเรามุ่งไปสู่สิ่งที่เราไม่สามารถนำติดตัวไปได้ เหล่านี้ คือเรื่องอันตรายที่เราสมควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเร่งด่วน
6. บุญบาปเป็นของมีจริง ทุกการกระทำของเรา ย่อมส่งผลสะท้อนกลับ ไม่วันนี้ก็วันหน้า ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า คำพูด และการกระทำ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าที่เราคิด พูดสิ่งใด ทำสิ่งใดลงไป มิได้จารึกไว้เพียงโลกนี้ หากแต่มันจะจารึกไว้ในสังสารวัฏ ในจิตของเรา และเราจะต้องเป็นผู้รับผลแห่งการกระทำของตนเอง ตลอดการเวียนว่ายตายเกิด ดังนั้น จงระวังคำพูด และการกระทำของเราไว้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่
7. ทุกคนที่เราเห็น พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ เพื่อนฝูง มิตรสหาย ผู้คน ทั้งคนที่รู้จัก และไม่รู้จัก ตลอดการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีใครเลยที่ไม่รู้จักกัน ไม่มีใครเลยที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และตราบใดที่เรายังเวียนว่ายตายเกิด เราและเขา จะได้พบกันอีก ไม่ฐานะใดฐานะหนึ่ง ทำดีกับเขาวันนี้ จะพบกันในเส้นทางที่ดี ทำร้ายเขาในวันนี้ ก็จะต้องตามจองเวรกันต่อไป ไม่สิ้นสุด ดังนั้น คำว่า "เพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย" จึงเป็นคำที่มีนัยยะสำคัญกว่าที่เราคิดไว้หลายเท่า จงมองผู้อื่นให้เหมือนครอบครัวของท่าน นั่นคือ หนทางที่ดีที่สุด
8. เมื่อการเวียนว่ายตายเกิดมีจริง การบริหารจัดการชีวิตของเรา ก็สมควรเป็นการบริหารจัดการชีวิตที่ครอบคลุมทุกมิติ ไม่เน้นหนักในชาติใดชาติหนึ่ง ชาตินี้ก็ต้องกินต้องใช้ แต่ชาติหน้าก็ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด กิจกรรมบางอย่าง อาจส่งผลดีสูงสุดในชาตินี้ แต่ชาติหน้าอาจทำให้ท่านไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่อัตภาพความเป็นมนุษย์ ดังนั้น ในทุกวัน เราควรถามตนเองว่า วันนี้เราได้เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัวในชาติหน้าบ้างแล้วหรือยัง
9. เวลาที่เราเห็นตรงหน้า มีเพียงปัจจุบัน วินาทีต่อวินาที เมื่อเวลาเคลื่อนเลยไป ไม่มีใครสามารถนำช่วงเวลานั้นกลับมาใช้ซ้ำได้ อดีต ไม่มีจริง เพราะอดีต คือภาพจำที่เรานำมาคิดซ้ำในเวลาปัจจุบัน ส่วนอนาคตก็ไม่มีจริง เพราะอนาคต ก็คือการปรุงแต่งในปัจจุบันของเรา จงจำไว้เสมอ ชีวิต คือเรื่องสดใหม่ ตัวท่านมีอยู่เพียงปัจจุบันการอยู่กับปัจจุบันจะช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างในชีวิตของท่านได้ และนี่คือ กุญแจเพียงดอกเดียวที่จะไขความลับของชีวิต จงอยู่กับปัจจุบันจนถึงที่สุด(มีสติและสัมปชัญญะ) แล้วชีวิตจะเป็นของท่านอย่างแท้จริง
10. เป้าหมายของการเกิดเป็นมนุษย์คืออะไร บางคนบอกว่า ฉันเกิดมาเพื่อมีความสุข บางคนบอกว่า ฉันเกิดมาเพื่อสร้างสิ่งดีงามไว้ให้โลก บางคนบอกว่า ฉันเกิดมาเพื่อคนที่ฉันรัก นั่นก็เป็นสิ่งที่จะคิดกันไปตามภูมิปัญญา แต่ละคนก็มีเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับพระพุทธเจ้า ท่านได้ฝากเป้าหมายไว้ให้มนุษยชาติอย่างชัดเจน เป้าหมายของการเกิดเป็นมนุษย์ในทัศนะของพระพุทธเจ้า ก็คือ การดับกิเลส และทำที่สุดแห่งทุกข์ให้แจ้ง คือการดับความไม่รู้ หรืออวิชา อันเป็นต้นเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดตลอดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
ขอให้เชื่อเถอะว่า เราเคยตั้งเป้าหมายชีวิตมาแล้วนับไม่ถ้วน แ���ะขอให้เชื่อเถอะว่า ทุกเป้าหมาย ทุกความปราถนา ทุกความสำเร็จ ทุกความอยากมี อยากดี อยากได้ อยากเป็น เราล้วนเคยบรรลุมาแล้วก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น คงเหลือเพียงเป้าหมายเดียวเท่านั้นที่เรายังไม่เคยบรรลุ นั่นคือเป้าหมายแห่งการไม่เกิด ไม่ตาย เช่นนั้นแล้ว ถ้าชาตินี้เรายังตั้งเป้าหมายเก่าๆ ซ้ำๆ เดิมๆ ชีวิตของเราคงไม่ต่างอะไรกับนิยายน้ำเน่าที่นำมาเล่าซ้ำๆ เปลี่ยนแต่เพียงชื่อแซ่ หน้าตา เสื้อผ้า หน้า ผม แต่ทุกอย่างก็ยังวนเวียนอยู่ในวังวนเก่าๆ เช่นนี้แล้ว การเกิดของเราคงเป็นการเกิดที่ไร้ค่า
0 notes
pisanuv · 11 months
Text
”สังสารวัฏ“ วงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่มีวันสิ้นสุด
สังสารวัฏนี้แปลว่าวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่มีวันสิ้นสุด ที่สัตว์โลกทั้งหลายอย่างพวกเราคือจิตวิญญาณหรือดวงวิญญาณต่างๆ ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในไตรภพ ไตรภพนี้เป็นที่ตั้งของสังสารวัฏที่มีการเวียนว่ายตายเกิด สัตว์โลกคือดวงวิญญาณหรือดวงจิตดวงใจของสัตว์โลกแต่ละดวงนี้ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพต่างๆ มีอยู่ ๓ ภพใหญ่ๆ ด้วยกันเรียกว่า “ไตรภพ”
ไตรภพนี้ก็มีภพที่ ๑ เรียกว่า “กามภพ” ภพที่ ๒ เรียกว่า “รูปภพ” และภพที่ ๓ เรียกว่า “อรูปภพ” ภพเหล่านี้เป็นที่เกิดแก่เจ็บตายของดวงวิญญาณต่างๆ กามภพนี้เป็นภพของดวงวิญญาณที่เสพกาม เสพกามคุณ ๕ ได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ ในกามภพนี้แบ่งไว้เป็น ๒ ซึกด้วยกัน ซีกหนึ่งเรียกว่า “สุคติ” และอีกซีกหนึ่งเรียกว่า “ทุคติ” ซีกที่เรียกว่าสุคติก็คือภพของเทวดา เป็นสวรรค์ชั้นต่างๆ ส่วนภพที่เป็นทุคติเรียกว่า “อบาย” มีอยู่ ๔ ได้แก่ เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย และนรก ส่วนภพที่อยู่ตรงกลางระหว่างสุคติและทุคติก็คือภพของมนุษย์
พวกเราตอนนี้เป็นมนุษย์เพราะร่างกายเป็นมนุษย์ อยู่ในภพที่ไม่สูงไม่ต่ำ ไม่สุขไม่ทุกข์ มีทั้งสุขมีทั้งทุกข์ปนกันไป เป็นภพที่เราจะมาสร้างภพต่างๆ กัน ภพของมนุษย์นี้เป็นภพที่สามารถสร้างภพต่างๆ ได้ จะสร้างอบายก็ได้ สร้างสวรรค์ก็ได้ อยู่ที่การมาเกิดเป็นมนุษย์ ส่วนเวลาที่ไปเกิดในสุคติหรือทุคติ อันนี้ก็เป็นที่ไปรับผลของการกระทำในขณะที่เป็นมนุษย์ ถ้ากระทำบุญเวลาตายไปก็จะไปเป็นเทวดา เป็นเทพ ไปอยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ อยู่ได้ระยะหนึ่ง เมื่อกำลังของบุญหมดลงก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ แล้วก็มาทำบุญทำบาปใหม่ ถ้าทำบาปเวลาตายไปดวงวิญญาณก็ไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสูรกายบ้าง เป็นนรกบ้าง นี่เป็นอำนาจของบาปที่จะทำให้ดวงวิญญาณต้องไปอยู่ในทุคติ อยู่ในอบาย ภพเหล่านี้ ภพในอบายก็เป็นภพชั่วคราว อยู่ในอบายได้ เมื่อหมดเวลาของบาปที่ได้ทำเอาไว้ ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ แล้วก็จะมาทำบุญทำบาปใหม่ ก็จะเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นี่คือกามภพ
ส่วนอีก ๒ ภพได้แก่ รูปภพ และ อรูปภพ รูปภพก็คือภพของผู้ที่เสพรูปฌาน เช่น พวกนักบวชทั้งหลาย พวกนักบวชนี้เขาไม่ยินดีกับการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เขายินดีกับการเสพรูปฌานและอรูปฌานที่เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขของกามสุข พวกนี้เวลามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเป็นนักบวชกัน แล้วก็จะไปหาความสุขจากการถือศีล นั่งสมาธิเข้าฌานกัน ถ้าเข้าได้ในระดับรูปฌาน เวลาตายไปดวงวิญญาณก็จะไปอยู่ในรูปภพ คือภพของรูปพรหม เป็นสวรรค์ชั้นพรหม พวกที่สามารถเข้าสมาธิขั้นอรูปฌานได้ เวลาตายไปดวงวิญญาณก็จะไปอยู่ในอรูปภพ คือภพของอรูปพรหม ภพของรูปพรหม กับ ภพของอรูปพรหม ก็เป็นภพชั่วคราว เมื่อกำลังของสมาธิหรือฌานเสื่อมลง ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็กลับมาบวชใหม่ ไปหาความสุขจากการนั่งสมาธิใหม่ นี่คือเรื่องของดวงวิญญาณต่างๆ ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏที่ไม่มีวันสิ้นสุด
ธรรมะหน้ากุฏิ
วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
0 notes
im-invisible · 7 years
Text
11.50
Violet cold - anomie 
No escape from dreamland
การมีชีวิตคือการเดินทางที่มีผู้คนล้มหายตายจากไปจากชีวิต
วัฏสงสาร หรือ สังสารวัฏ หรือ สงสารวัฏ
0 notes
kantapons · 7 years
Text
เมื่อเราคิดว่า"โชคชะตา"เล่นตลกกับชีวิตเรา
เมื่อเราคิดว่า”โชคชะตา”เล่นตลกกับชีวิตเรา
สังสารวัฏ อันหมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดและการระลึกชาติได้ ดังที่ผมได้กล่าวมาตลอดว่า…คือชีวิตที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น   จากชีวิตหนึ่งไปยังอีกชีวิตหนึ่ง จากร่างกายหนึ่งไปยังร่างกายหนึ่งจนไม่มีที่สิ้นสุด ตราบจนกว่าจะรู้แจ้งหรือเข้าใจระบบแห่งจิต แล้วหลุดพ้นจากความไม่รู้อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และสุดท้ายคือหลุดพ้นจากกามฉันทะ หลุดพ้นจากความลังเลสงสัย หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น…
View On WordPress
0 notes
thaimindfulnews · 7 years
Link
  บทสวดมนต์ต่างๆในพระพุทธศาสนา นอกเหนือจากบทสวดสรรเสริญพรรณนาคุณของพระรัตนตรัยตามที่เรารู้จักกันแล้ว บางบทก็ได้แสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน จุดประสงค์ก็เพื่อทำให้ผู้คนในภายหลังจดจำพระธรรมเทศนาผ่านบทสวดมนต์ที่สวดอยู่เป็นประจำ เป็นการธำรงค์รักษาคำสอนในอีกรูปแบบหนึ่งไปในตัว ทุกครั้งที่ได้สวดมนต์บทที่เป็นพระธรรมเทศนา จึงเป็นเหมือนกับการได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร์ ได้รับฟังคำสอนของพระองค์ที่เคยตรัสสอนไว้แล้วเมื่อครั้งสมัยพุทธกาล จึงนับเป็นบุญกุศลใหญ่ที่เราได้สวดมนต์สาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้า และช่วยรักษาคำสอนของพระองค์ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา ยิ่งถ้าเราเข้าใจความหมายก็จะยิ่งทำให้เราได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปทุกครั้งที่เราได้สวดด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความเข้าใจในธรรมมากยิ่งขึ้น สามารถแนะนำธรรมะที่เรารู้แก่ผู้อื่นได้ ในบรรดาพระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นพระธรรมเทศนาบทแรกของพระพุทธองค์ ที่ได้ตรัสสอนเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหบูชา  มีใจความแสดงถึงความจริงสูงสุดของ​สังสารวัฏ​ และแนวทางไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง เป็นแม่บทของคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่ขีดเส้นแนวทางการปฏิบัติตนไปสู่พระนิพพาน ถูกรจนาด้วยภาษาบาลี และกลายเป็นบทสวดมนต์บทหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงควรที่เราจะได้ศึกษาคำแปลและความหมายของพระธรรมเทศนาที่สำคัญยิ่งนี้ไว้ อันจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจว่าปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้านั้นมีเนื้อหาอย่างไร? เหตุไฉนพระสูตรนี้จึงได้กล่าวกันว่า เป็นแม่บทในพระพุทธศาสนา? เมื่อเราศึกษาจนเข้าใจดีแล้ว ก็จะทำให้เราเข้าใจธรรมะในพระพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น  และปฏิบัติตนไม่คลาดเคลื่อนไปจากมรรคผลนิพพาน เมื่อใดสวดบทธัมมจักฯนี้ ก็จะเข้าใจในเนื้อหาธรรมะ เพิ่มพูนปัญญาแก่ตนเองสืบไป...   อธิบายคำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 1 มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่ควรดำเนินไป "เอวัมเม สุตัง" “ข้าพเจ้าได้สดับมา อย่างนี้” "เอกัง สะมะยัง ภะคะวา" "สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า" "พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย ฯ" "เสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี" "ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ" "ในกาลนั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนพระปัญญจวัคคีย์อย่างนี้ว่า" เริ่มต้นธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จะขึ้นต้นว่า "เอวัมเม สุตัง" มีคำแปลว่า "ข้าพเจ้า ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้" ผู้กล่าวนี้ก็คือท่านพระอานนท์ ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า นอกจากท่านจะทำหน้าที่อุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านยังเป็นผู้ทรงจำพุทธพจน์ทุกบทของพระพุทธเจ้าได้อย่างแม่นยำ เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ 1 หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านจึงได้รับหน้าที่เป็นผู้วิสัชนาพระสูตร และพระอภิธรรม เป็นผลทำให้พระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสูตร และพระอภิธรรมเกิดขึ้นได้เพราะท่านพระอานนท์นี้เอง หลังจากการเกริ่นนำไว้ ท่านพระอานนท์ก็บอกเล่าถึงช่วงเวลา คำว่า "สมัยหนึ่ง" ที่ว่ามานี้ ก็คือวันอาสาฬหบูชาเดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เกือบสองเดือนหลังจากวันวิสาขบูชาเดือน 6 ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนสถานที่ที่พระองค์แสดงธรรมก็คือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ใกล้เมืองพาราณสี (เข้าสู่พระธรรมเทศนา) เทฺวเม ภิกขะเว อันตา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ เหล่าอย่างนี้) ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา (อันบรรพชิตไม่ควรเสพ) โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค (คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยกาม ในกามทั้งหลายนี้ใด) หีโน (เป็นธรรมอันเลว) คัมโม (เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน) โปถุชชะนิโก (เป็นของมนุษย์ปุถุชน) อะนะร��โย (ไม่ใช่ของคนไปจากข้าศึกคือกิเลส) อะนัตถะสัญหิโต (ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์) โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค (คือประกอบความเหน็ดเหนื่อยด้วยตนเหล่านี้ใด ) ทุกโข (ให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประกอบ) อะนะริโย (ไม่ใช่ไปจากข้าศึกคือกิเลส) อะนัตถะสัญหิโต (ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์)   เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั่นนั้น) ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ) จักขุกะระณี ญาณะกะระณี (ทำให้เกิดธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณเครื่องรู้) อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ (ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อ ความดับ) เนื้อหาตอนต้นของธัมมจักเริ่มด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการค้นพบใหม่ที่ไม่เหมือนกับแนวทางที่เชื่อกันว่าจะทำให้พ้นทุกข์ในยุคนั้นสองสายคือ กามสุขัลลิกานุโยค การตามประกอบความสุขในกาม และอัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ได้รับความลำบาก เป็นทางสุดโต่ง 2 สายที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ พระพุทธองค์ค้นพบว่าทางไปสู่นิพพานนั้น จะต้องไม่ไปสู่ทางสุดโต่งทั้ง 2 แต่จะต้องเป็นทางสายกลาง ซึ่งอยู่ระหว่างแนวทางทั้งสอง คือไม่ติดในกาม แต่ก็ไม่ทรมานตนให้ได้รับความลำบากเช่นกัน จึงเรียกว่าทางสายกลาง ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสสอนบรรพชิตโดยตรง เพราะผู้ฟังเป็นนักบวชก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คฤหัสถ์จะไม่สามารถทำได้ ความจริงแล้วทางสายกลางนี้ก็ใช้เป็นแนวทางได้สำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งได้แก่การทำงานหรือการดำเนินชีวิต เพราะทางสุดโต่งทั้งสองสายนี้ ก็ล้วนมีในคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือการดำเนินชีวิตอื่นๆ ตัวอย่างเช่นหากเปรียบกับการทำงาน กามสุขัลลิกานุโยค ก็เหมือนกับการติดสบายไม่ลงมือทำงานให้สำเร็จ หรือถ้าเป็นการเรียนก็เป็นความขี้เกียจ ห่วงเล่น ลักษณะนี้คือกามสุขัลลิกานุโยค ความย่อหย่อนในการทำงาน ส่วนอัตตกิลมถานุโยค ก็เปรียบเหมือนความตั้งใจจะทำงานให้เสร็จเร็วๆ จนละเลยขั้นตอนต่างๆในการทำงาน ผลก็คืองานก็ออกมาไม่ดี หรือซ้ำร้ายก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา ถ้าเป็นการเรียนก็เหมือนการตั้งใจเรียนโดยฝืนตัวเอง ถล่มทลายสังขาร พักผ่อนไม่เพียงพอ ผลก็คือแทนที่จะเข้าใจความรู้ก็ดันเจ็บไข้ได้ป่วยแทน ส่วนมัชฌิมาปฏิปทาก็เปรียบเหมือนทางสายกลาง ไม่หย่อนไปไม่ตึงไป ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานอย่างถูกต้อง ทำให้งานสำเร็จด้วยดี ถ้าเป็นการเรียนก็คือการบริหารเวลาอ่านหนังสือและการพักผ่อนดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เข้าใจความรู้ โดยไม่ต้องถล่มทลายสังขาร ทางสุดโต่งนี้ยังครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน กามสุขัลลิกานุโยคเปรียบเหมือน ความประมาท ลุ่มหลงไปตามกระแสกิเลส จนทำให้ห่างไกลจากการสั่งสมบุญ ทำให้ชีวิตมีอันตราย ทั้งจากอันตรายในชาติปัจจุบันและอันตรายจากภัยอบายในภพหน้า เพราะไม่ได้ตระหนักระวังถึงสิ่งที่ควรระวัง ส่วนอัตตกิลมถานุโยค เปรียบเหมือนความเครียดในชีวิต ความจมปลักกับปัญหาของตน ทัศนคติที่เลวร้ายต่อโลก ทำให้รู้สึกท้อแท้ หดหู่ บั่นทอนกำลังใจที่จะทำความดีเป็นต้น ส่วนมัชฌิมาปฏิปทา คือการตระหนักรู้ถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ และมองชีวิตแบบผู้มีปัญญา ไม่หลงระเริงในชีวิต และไม่จมปลักกับปัญหาจนไม่ทำอะไร ไม่ประมาทในชีวิต แต่ก็ไม่ถึงกับเคร่งเครียด หมั่นสั่งสมบุญ ละเว้นบาป และปฏิบัติหน้าที่การงานของตนด้วยดี ก็จะทำให้ชีวิตปลอดภัย มีสุขทั้งในภพนี้และภพหน้า ทางสายกลางครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆอย่างนี้ (แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะติดในกามสุขัลลิกานุโยคมากกว่าอัตตกิลมถานุโยค ให้เราลองเว้นจากสิ่งที่ดึงใจเราให้ยึดติด เช่นสื่อต่างๆ แล้วจะพบว่าเรามีเวลาเหลือในชีวิตสำหรับการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตมากขึ้น) นี่คือทางสุดโต่งและทางสายกลางในฝ่ายของทางโลก ส่วนทางสายกลางทางธรรมที่ทำให้พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ว่า กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางนั้นเป็นไฉน) ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง) จักขุกะระณี ญาณะกะระณี (ทำให้เกิดธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณเครื่องรู้) อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ (ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ ) อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค ฯ (ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลสนี้เอง) เสยยะถีทัง (ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ) สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกต้อง) สัมมาสังกัปโป (ความดำริถูกต้อง) สัมมาวาจา (การพูดถูกต้อง) สัมมากัมมันโต (การกระทำถูกต้อง) สัมมาอาชีโว (การเลี้ยงชีวิตถูกต้อง) สัมมาวายาโม (ความเพียรถูกต้อง) สัมมาสะติ (มีจิตสำนึกถูกต้อง) สัมมาสะมาธิ (ทำสมาธิอย่างถูกต้อง) อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้แล​ ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางนั้น) ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา (ที่ตถาคต ได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง) จักขุกะระณี ญาณะกะระณี (ทำให้เกิดธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณเครื่องรู้) อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ (ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับ) สรุปโดยย่อ มรรคทั้ง 8 ประการนี้ก็คือการปฏิบัติขัดเกลาตนตามหลักไตรสิกขา (สิ่งที่ควรศึกษาขัดเกลาในตน 3 ประการ) คือศีล สมาธิ และปัญญาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ทางกาย วาจา ใจ จัดมรรคทั้ง 8 ประการลงในไตรสิกขาได้ดังนี้... สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกต้อง) และสัมมาสังกัปโป (ความดำริถูกต้อง) จัดเข้าในปัญญาสิกขา (ข้อที่ควรศึกษาทางปัญญา) สัมมาวาจา (การพูดถูกต้อง) สัมมากัมมันโต (การกระทำถูกต้อง) และสัมมาอาชีโว (การเลี้ยงชีวิตถูกต้อง) จัดเข้าในศีลสิกขา (ข้อที่ควรศึกษาทางศีล) สัมมาวายาโม (ความเพียรถูกต้อง) สัมมาสะติ (มีจิตสำนึกถูกต้อง) และสัมมาสะมาธิ (ทำสมาธิอย่างถูกต้อง) จัดเข้าในสมาธิสิกขา (ข้อที่ควรศึกษาทางสมาธิ) การปฏิบัติตนเช่นนี้คือ ทางสายกลางในพระพุทธศาสนา ที่จะทำให้ไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล เป็นสิ่งที่ต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดผลแก่ตนเอง เมื่อปฏิบัติดังนี้ นับว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องทีเดียว ส่วนรายละเอียดของมรรค 8 ประการนี้จะเป็นอย่างไร? ทำเช่นไรจึงจะถือว่าถูกต้องตามมรรคทั้ง 8 ประการ? จะขออธิบายในตอนถัดไป จบตอนที่ 1 Cr. ปธ.ก้าว​ต่อ​ไป
0 notes